เมื่อวันที่ 2 มกราคม นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า สพฉ.อยากรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการใช้สายด่วนฉุกเฉิน และจดจำหมายเลข 4 ตัว 1669 ที่ให้บริการฟรี 24 ชั่วโมง ทั่วประเทศ ไว้ให้ดี เพราะถือเป็นสายด่วนที่ช่วยชีวิตได้ โดยข้อควรรู้สำหรับประชาชนที่จะโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากสายด่วน 1669 คือ 1.เมื่อพบเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ตั้งสติและโทรแจ้งสายด่วน 1669 2.ให้ข้อมูลว่าเกิดเหตุอะไรมีผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บในลักษณะใด 3.บอกสถานที่เกิดเหตุเส้นทางจุดเกิดเหตุให้ชัดเจน 4.บอกเพศ ช่วงอายุ อาการ จำนวน ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บ 5.บอกระดับความรู้สึกตัวของ ผู้ป่วย 6.บอกความเสี่ยงที่อาจเกิดซ้ำ เช่น อยู่กลางถนน หรือรถติดแก๊ส ฯลฯ 7.บอกชื่อผู้แจ้งเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ 8.ช่วยเหลือเบื้องต้นตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ 9.รอทีมกู้ชีพไปรับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
“อยากขอร้องประชาชนไม่ให้โทรป่วนสายด่วน อย่าเห็นเป็นเพียงเรื่องสนุก เพราะหลายๆ ครั้ง ทำให้เราต้องสูญเสียผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งอยากเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมโทรป่วนด้วยว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 38 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ที่ระบุว่าผู้ใดใช้ระบบสื่อสารและเทคโนโลยีที่จัดไว้สำหรับการปฏิบัติการฉุกเฉินโดยประการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การปฏิบัติการฉุกเฉิน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท รวมทั้ง มาตรา 397 ตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และนอกจากเป็นห่วงเรื่องการโทรป่วนแล้ว ยังเป็นห่วงเรื่องการโทรผิดหมายเลขด้วย เพราะจะทำให้การช่วยเหลือล่าช้าลงไปอีก ซึ่งจากสถิติพบว่า ตลอดปี 2559 ประชาชนโทรไปที่เบอร์อื่นก่อน หรือแจ้งผ่านวิทยุสื่อสาร ถึงร้อยละ 26” นพ.อนุชา กล่าว
นอกจากนี้ นพ.อนุชา กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับประชาชนเดินทางกลับมาทำงาน ในช่วงวันที่ 3 มกราคม ซึ่งเป็นวันหยุดปีใหม่วันสุดท้าย ว่า ได้เตรียมพร้อมทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินไว้แล้ว เพราะว่าปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติถึง 2 เท่าตัว โดยได้ประสานทีมกู้ชีพให้เตรียมรับมือ พร้อมตรวจเช็คความพร้อมของสายด่วนให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : matichon